Last updated: 23 พ.ค. 2567 | 931 จำนวนผู้เข้าชม |
ก่อนที่จะอธิบายหลักการในการอ่านค่า (สำหรับผู้ที่มีความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องหลักการทำงานของเครื่องวัดความดันอยู่แล้ว สามารถข้ามช่วงแรกของบทความไปได้เลยครับ โดยเกณฑ์ในการอ่านค่าความดันจะอยู่ในช่วงท้ายของบทความ) ผมจะอธิบายให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจก่อนว่าค่า Systolic (ความดันตัวบน) และค่า Diastolic (ความดันตัวล่าง) คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และถูกวัดออกมาได้อย่างไร?
ค่า Systolic (ค่าความดันตัวบน) ตัวย่อ : SYS
คือช่วงความดันที่หัวใจบีบตัวหรือหดตัว จะทำให้เลือดที่ถูกส่งไปตามหลอดเลือดต่าง ๆ ด้วยความดันที่มากกว่าช่วงสภาวะที่หัวใจอยู่ในสภาพปกติ
ค่า Diastolic (ค่าความดันตัวล่าง) ตัวย่อ : DIAS
คือช่วงความดันที่หัวใจอยู่ในขณะพัก ซึ่งจะทำให้ค่าความดันตัวล่างจะน้อยกว่าค่าความดันตัวบนเสมอ
ค่า Systolic วัดออกมาได้อย่างไร? เครื่องรู้ได้อย่างไรว่าเรามีค่า Systolic เท่าไหร่?
ในกลไกของเครื่องวัดความดันโลหิตชนิดสอดแขน จะมีส่วนอุโมงค์ที่ให้ผู้วัดได้ทำการสอดแขนเข้าไป ซึ่งถ้าสอดแขนเข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว ช่วงบนของตัวแขนจะอยู่ในอุโมงค์ที่ภายในตัวอุโมงค์จะมีผ้า (พลาสติก) ที่เรียกว่า Cuff ซึ่งภายในตัว Cuff ก็จะมีถุงลม (Air Chamber) ซึ่งเมื่อทำการกดปุ่ม Start เครื่องจะทำการปั้มลมเข้าไปในถุงลม ซึ่งถุงลมก็จะขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ และทำการรัดแขนของผู้วัด โดยหลักการคือถุงลมขยายตัวเรื่อย ๆ จนรัดแขนของเราให้แน่น เพื่อให้ไปกันไม่ให้มีเลือดไหลเวียน
หลังจากที่เลือดไม่มีการไหลเวียนแล้ว ถุงลมจะค่อย ๆ คลายตัวออกมา แขนของเราก็ไม่ถูกกดทับด้วยถุงลมอีกต่อไป และจะทำให้เลือดเริ่มกลับมาไหลเวียนอีกครั้ง
ณ ช่วงเวลาไหนที่เครื่องจะตรวจจับค่า Systolic ได้?
หลังจากที่อธิบายกลไกการทำงานของเครื่องวัดความดันให้ได้ทราบแล้ว เมื่อถุงลมได้ทำการคลายลมออกมา ทำให้แขนไม่ถูกกดทับอีกต่อไป ดังนั้นเลือดจึงสามารถกลับมาไหลเวียนได้อีกครั้ง ซึ่งในจุดที่เลือดกลับมาไหลเวียนอีกครั้ง คือจุดที่เครื่องจะสามารถหาค่า Systolic ออกมาได้ โดยหน่วยของความดันที่วัดออกมาได้คือ มิลลิเมตรปรอท (mmHg)
ค่า Diastolic วัดออกมาได้อย่างไร? ณ ช่วงเวลาไหนที่เครื่องจะตรวจจับค่า Diastolic ได้?
หลังจากที่ถุงลมเริ่มคลายตัว เลือดจะเริ่มกลับมาไหลเวียนเรื่อย ๆ จนอยู่ในสภาวะปกติ (หัวใจอยู่ในสถานะพัก) ซึ่งเมื่ออยู่ในช่วงดังกล่าวแล้ว จะทำให้เครื่องสามารถหาค่า Diastolic ออกมาได้ โดยหน่วยของความดันที่วัดออกมาได้คือ มิลลิเมตรปรอท (mmHg)
ทำไมค่าของ Systolic ถึงได้มีค่ามากกว่า Diastolic เสมอ?
เพราะว่าค่า Systolic ถูกวัดออกมาในขณะที่หัวใจกำลัง Active และไม่ได้อยู่ในช่วงพัก จึงทำให้ค่า Systolic จะอยู่ในช่วงความดันที่มากกว่า ส่วน Diastolic จะเป็นค่าความดันที่ถูกวัดในขณะที่หัวใจอยู่ในสภาวะคงที่ (พัก) จึงทำให้ค่าความดัน Diastolic จะอยู่ในช่วงที่น้อยกว่า
เกณฑ์ในการอ่านค่าความดันโลหิต
เมื่อเข้าใจหลักการของ Systolic และ Diastolic แล้ว สิ่งต่อมาที่ต้องทำความเข้าใจคือการอ่านค่าความดัน ค่าความดันแบบใดที่สูงไป, แบบใดที่ต่ำไป หรือแบบใดที่ถือว่าปกติ
สำหรับค่าความดันที่อยู่ในอุดมคติคือ 120/80 mmHg ซึ่งโดยทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่ ค่า Systolic ควรจะอยู่ที่ 120 หรือต่ำกว่า และค่า Diastolic ควรจะอยู่ที่ 80 หรือต่ำกว่า
สถานะความดัน | ความดันตัวบน (Systolic) *หน่วย mmHg | และ/หรือ | ความดันตัวล่าง (Diastolic) *หน่วย mmHg |
ความดันปกติ | <120 | และ | <80 |
ความดันเริ่มสูง | 120-129 | และ | <80 |
ความดันสูงขั้นที่ 1 | 130-139 | หรือ | 80-89 |
ความดันสูงขั้นที่ 2 | >140 | หรือ | > 90 |
ความดันสูงขั้นวิกฤต | >180 | และ/หรือ | >120 |
ช่วงความดันปกติ
ช่วงความดันที่น้อยกว่า 120/80 mmHg ถือว่าอยู่ในช่วงความดันปกติ
ช่วงความดันเริ่มสูง
ช่วงความดันที่มีค่า Systolic ระหว่าง 120-129 mmHg และ มีค่า Diastolic ต่ำกว่า 80 mmHg โดยผู้ที่ความดันอยู่ในช่วงความดันเริ่มสูง มีโอกาสสูงที่จะเลื่อนขั้นไปยังช่วงความดันสูงขั้นที่ 1 หากปล่อยตัว และไม่มีการดูแลรักษาร่างกาย
ช่วงความดันสูงขั้นที่ 1
ช่วงความดันที่มีค่า Systolic ระหว่าง 130-139 mmHg หรือ มีค่า Diastolic ระหว่าง 80-89 mmHg โดยผู้ที่มีความดันสูงขั้นที่ 1 ควรมีการพบแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำจากหมอให้เปลี่ยน LifeStyle, การกิน ฯลฯ และอาจต้องได้รับยาอย่างสม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับการวินัจฉัยของแพทย์
ช่วงความดันสูงขั้นที่ 2
ช่วงความดันที่มีค่า Systolic ตั้งแต่ 140 เป็นต้นไป หรือ มีค่า Diastolic ตั้งแต่ 90 เป็นต้นไป โดยผู้ที่อยู่ในช่วงความดันสูงขั้นที่ 2 ต้องได้รับการพบแพทย์อย่างเป็นประจำ เพื่อเข้ารับการรักษาและได้รับยาอย่างสม่ำเสมอ และเปลี่ยน LifeStyle เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดโรคตามมาได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
ช่วงความดันสูงขั้นวิกฤต
ช่วงความดันที่มีค่า Systolic ตั้งแต่ 180 เป็นต้นไป และ/หรือ มีค่า Diastolic ตั้งแต่ 120 เป็นต้นไป ผู้ที่อยู่ในช่วงความดันสูงขั้นวิกฤตต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยด่วน เนื่องจากอยู่ในสภาวะที่ผิดปกติ หากคนไข้มีอาการแปลก ๆ เช่น เจ็บหน้าอก, หายใจลำบาก, เจ็บหลัง, มีอาการชา แขนขาอ่อนแรง หรือสายตาเริ่มผิดปกติ ให้ท่านรีบทำการโทรหาโรงพยาบาลใกล้เคียงหรือให้บุคคลรอบตัวรีบพาไปโรงพยาบาลโดยด่วน
อย่างไรก็ตาม หากตอนแรกที่วัดได้ 180/120 mmHg ก็มีโอกาสเป็นไปได้เช่นกันที่อาจจะเกิดจากการที่มีอาการเหนื่อยหอบแล้วมาวัด ดังนั้นจึงแนะนำให้หากวัดความดันรอบแรกแล้วสูง ให้ท่านนั่งพัก3-5 นาที และทำการวัดใหม่อีกครั้ง ซึ่งหากยังสูงเหมือนเดิมให้รีบทำการพบแพทย์โดยด่วน
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หากท่านใดสนใจเครื่องวัดความดันโลหิต (BP Monitor) สามารถเข้าชมสินค้าได้ที่ได้โดยการคลิ๊กลิงค์ :> เครื่องวัดความดันโลหิต (BP Monitor)
หรือติดต่อได้ที่ LINE : @medinter
19 มิ.ย. 2567
14 ธ.ค. 2566